ความเป็นมาและนิยามของ H-Index

ความเป็นมาและนิยามของ H-Index*
 
 

               H-index เป็นดัชนีที่พยายามวัดทั้งผลิตภาพ (productivity) และผลกระทบ (impact) ของผลงานของนักวิจัย  กล่าวอีกนัยหนึ่ง H-index จะวัดจำนวนบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ และการอ้างอิง (citation)   บทความเหล่านั้น  นักวิจัยที่มีจำนวนบทความมากจะมีค่า H-index สูงได้จะต้องมีบทความที่ได้รับการอ้างอิงสูงควบคู่ไปด้วย  ค่า H-index นี้  สามารถนำไปใช้วัดผลิตภาพ และผลกระทบของกลุ่มนักวิจัยได้  เช่น เราอาจคำนวณหาค่า H-index ของภาควิชา ของมหาวิทยาลัย หรือ แม้แต่ของประเทศได้  นอกจากนี้ ค่า H-index สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เช่น ในมหาวิทยาลัยชั้นดีในสหรัฐอเมริกา จะเป็น full professor ได้ควรมีค่า H-index ประมาณ 18 ขึ้นไป  แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับสาขาวิชาด้วย

 

                  ถึงแม้ H-index จะเป็นตัวชี้วัดที่ดี  สามารถบอกคุณภาพของนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ได้ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง  ถ้าจะเปรียบเทียบนักวิจัย ต้องเปรียบเทียบเฉพาะในสาขาเดียวกัน ไม่ควรเปรียบเทียบข้ามสาขา  เนื่องจากจำนวนนักวิจัย จำนวนบทความ และธรรมชาติของงานวิจัยที่ต่างกัน  ทำให้ค่า H-index ของนักวิจัยต่างสาขากันมีค่าแตกต่างกัน  เช่นในสาขาเคมี นักวิจัยที่มีค่า H-index สูง มีจำนวนมาก  และค่า H-index ก็สูงมากด้วย  เช่นในปี 2007  Professor E.F. Corey ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีค่า H-index สูงสุดที่ 132  (เขาตีพิมพ์อย่างน้อย 132  paper ที่มีการอ้างอิงอย่างน้อยบทความละ 132 ครั้ง)   แต่ปัจจุบัน Professor Whitesides ได้แซงหน้าไปแล้ว โดยมีค่า H-index 147   นอกจากนี้ จำนวนนักเคมีที่มีค่า H-index สูงกว่า 60  มีจำนวนมากถึง 250 คน  ในขณะที่สาขาอื่น  เช่น สาขา computer science  นักวิจัยที่มีค่า H-index เกิน 60 มีแค่ 19 คน  และค่าสูงสุดอยู่ที่ 92 เท่านั้น  เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ  ค่า H-index ของนักวิทยาศาสตร์ไทยสูงสุดอยู่ที่ประมาณ  24-25   โดยผู้ที่มีค่า H-index สูงสุดในอดีต  คือ  ศ.นพ.ศรชัย หลูอารีย์สุวรรณ  มีค่า H-index  ถึง 45  แต่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว
 

               ปัจจุบันมีดัชนีที่ใช้วัดผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมากมาย  แต่ละตัวก็จะมีข้อดี ข้อเสีย  ต่างกันไป  ไม่มีดัชนีตัวใดที่ไม่มีจุดอ่อน หรือถือได้ว่าดีที่สุด   H-index ก็เช่นเดียวกัน มีทั้งข้อดีข้อเสีย    ข้อดีของ H-index  ก็คือ ได้พยายามที่จะแก้จุดอ่อนของดัชนีตัวอื่น ที่ใช้นับจำนวนบทความตีพิมพ์ หรือจำนวนการอ้างอิงเพียงอย่างเดียว   เนื่องจาก จำนวนบทความตีพิมพ์ไม่ได้สะท้อนคุณภาพที่แท้จริง  ในขณะที่จำนวนการอ้างอิงที่สูงของบทความเพียง 1 หรือ 2 บทความ  อาจทำให้เข้าใจในคุณภาพผลงานของนักวิจัยคลาดเคลื่อนได้  เช่น ถ้านักวิจัย มีบทความที่ได้รับการอ้างอิงเป็นหลักพันเพียง 1 หรือ 2 บทความ จะทำให้ค่าเฉลี่ยของการอ้างอิงต่อบทความหรือยอดรวมของการอ้างอิงสูงกว่านักวิจัยอื่นได้  ซึ่งอาจไม่สะท้อนคุณภาพที่แท้จริงของงานโดยรวม

ดังนั้น H-index จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะวัดทั้งเชิงผลิตภาพ (productivity)  หรือเชิงปริมาณ และผลกระทบหรือเชิงคุณภาพของบทความตีพิมพ์ของนักวิจัยไปพร้อมๆ กัน  เช่น นักวิจัยคนหนึ่ง จะมี H-index เป็น 10 ได้  เขาจะต้องมีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ยอมรับจำนวน 10 เรื่อง ที่ถูกอ้างอิงไม่น้อยกว่าเรื่องละ 10 ครั้ง  ในขณะเดียวกันเขาอาจจะมีบทความอีกกี่เรื่องก็ได้ที่ถูกอ้างอิงแต่ละเรื่องไม่เกิน 10 ครั้ง อย่างไรก็ตาม H-index ก็มีจุดอ่อนหรือข้อด้อยหลายข้อ เช่น

        1. เนื่องจาก ค่า H-index ถูกจำกัดด้วยจำนวนบทความตีพิมพ์ด้วย  ดังนั้น นักวิจัยที่ทำงานในช่วงสั้นๆ หรือเสียชีวิตตั้งแต่อายุน้อยจะเสียเปรียบ   ถึงแม้จะมีผลงานดีเด่นเพียงใดก็ตาม  เช่น นักคณิตศาสตร์ที่ชื่อ Galois จะมี  H-index แค่ 2   หรือแม้แต่ Einstein ถ้าเสียชีวิตเร็ว โดยยังไม่ได้ผลิตผลงานเพิ่มหลังจากพบทฤษฎีสัมพัทธภาพ  ก็อาจมีค่า H-index เพียง 4 หรือ 5  ถึงแม้ผลงานของท่านจะยอดเยี่ยมมากดังที่เราทราบกัน
        2. ค่า H-index ไม่มีวันลดลง มีแต่คงที่หรือเพิ่มขึ้น ทั้งที่นักวิจัยนั้นหยุดทำงาน หรือเสียชีวิตแล้วก็ตาม  เนื่องจากจำนวนการอ้างอิงขึ้นไปได้เรื่อยๆ
        3. H-index ไม่ได้คำนึงถึงบริบทของการอ้างอิงว่าใช้ในลักษณะไหน  มีน้ำหนักหรือไม่ หรือใช้อ้างอิงเพียงเพื่อเป็นข้อมูลเท่านั้น  ไม่ได้ยืนยันหรือพิสูจน์ประเด็นอะไร
        4. นักวิจัยอาจมีค่า H-index เท่ากัน  แต่มีจำนวนการอ้างอิงต่างกันมากก็ได้  เช่น นักวิจัย 2 คน มีค่า H-index เป็น 20 ทั้งคู่   คนหนึ่งอาจมี 20 บทความที่ถูกอ้างอิง  รวมกันแค่ 400 ครั้ง  ขณะที่อีกคนหนึ่งอาจมีจำนวนการอ้างอิงรวมกันเป็น 10,000 ครั้งก็ได้   ซึ่งผลงานของคนหลังย่อมต้องมีคุณภาพดีกว่าแน่นอน
        5. H-index  แสดงค่าเป็นเลขจำนวนเต็มเท่านั้น  ทำให้ขาดอำนาจจำแนก ดังเช่นตัวอย่างในข้อ 4  ปัจจุบันมีผู้พยายามขยายผลให้ H-index มีค่าเป็นเศษส่วนได้  เช่น มีค่าระหว่าง h และ h+1
        6. ค่า H-index ไม่ได้นำจำนวนผู้เขียนในแต่ละบทความมาคิด  ซึ่งประเด็นนี้เป็นจุดอ่อนของตัวชี้วัดอื่นๆ ด้วย  เช่น  ถ้าบทความนั้น มีผู้แต่ง 3 คน  ก็ควรนำจำนวนผู้แต่ง หรือ 3 ไปหารจำนวนการอ้างอิง  มิฉะนั้น อาจจะเกิดขบวนการสมยอมกันได้ เช่น  นักวิจัยที่เก่งใกล้เคียงกัน 2 คน ในสาขาเดียวกันอาจจะแลกเปลี่ยนหรือร่วมมือกัน โดยการใส่ชื่อซึ่งกันและกันในบทความของทั้งคู่  ทำให้ได้ประโยชน์จากงานที่ไม่ใช่ของตนด้วย
        7. H-index ไม่ได้คำนึงถึงประเภทของบทความว่าเป็น  review article, original article หรือ letter 
        8. การคำนวณค่า H-index มีผลกระทบจากฐานข้อมูลที่ใช้คำนวณการอ้างอิง  บางฐานข้อมูลสามารถค้นการอ้างอิงถอยไปได้หลายปี  ขณะที่บางฐานค้นข้อมูลได้เฉพาะบทความที่ค่อนข้างใหม่เท่านั้น

 

 

                  ถึงแม้ว่า H-index จะมีจุดอ่อนหลายข้อ  แต่ก็ถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่ดีตัวหนึ่ง  ถ้าเลือกใช้ให้เหมาะก็จะเป็นประโยชน์  ที่ผ่านมาพบว่า H-index เหมาะสำหรับเปรียบเทียบผลงานวิจัยในสาขาวิชาเดียวกัน  ยิ่งมีอายุการทำงานใกล้เคียงกันก็จะยิ่งดี   ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบผลงานการอ้างอิงของนักวิจัย  ควรจะกำหนดช่วงเวลา   การอ้างอิงด้วย  เช่น 5 ปี หรือ 10 ปี  ที่ผ่านมาเป็นต้น   นอกจากนี้ การใช้ H-index จะยิ่งมีความแม่นยำมากขึ้น   ถ้านำเรื่อง corresponding author ของบทความ หรือ เรื่องการอ้างอิงตนเอง (self-citation) มาพิจารณาด้วย

              ด้วยเหตุผลที่ H-index เป็นตัวชี้วัดที่ใช้ได้  จึงมีสถาบันบางแห่งนำไปใช้เป็นตัวชี้วัดประเมินผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยระดับ top ของโลก  ที่รู้จักกันดีได้แก่ HEEACT หรือ Higher Education Evaluation & Accreditation Council of Taiwan  ซึ่งได้ประเมินมหาวิทยาลัยทั่วโลก  และจัดอันดับ top 500 ไว้   โดยใช้ตัวชี้วัด และน้ำหนัก ดังนี้
 


 
 
 

                  จากตารางจะพบว่า ตัวชี้วัดที่ HEEACT ใช้  มี 8 ตัว  จัดเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ research productivity, research impact และ research excellence  โดยแต่ละกลุ่มมีตัวชี้วัด 2-3 ตัว และมีน้ำหนักต่างๆ กัน  ตัวชี้วัดกลุ่มที่ 1 วัดผลิตภาพ คือจำนวนบทความตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่มี peer review  ตัวชี้วัดในกลุ่มนี้มี 2 ตัว  ตัวแรก ดูยอดรวมในรอบ 11 ปีสุดท้าย  และตัวที่สองดูผลงานในปีล่าสุดปีเดียว

                  ตัวชี้วัดกลุ่มที่ 2  ดูผลกระทบของงานวิจัย  โดยดูจากจำนวนการอ้างอิงในรอบ 11 ปี  ใน 2 ปีสุดท้าย  และค่าเฉลี่ยการอ้างอิงต่อปี ในขณะที่ตัวชี้วัดกลุ่มที่ 3  วัดความเป็นเลิศของงานวิจัย โดยดูจากค่า H-index  ของ 2 ปีล่าสุด  จำนวนบทความที่ถูกอ้างอิงสูงในรอบ 11 ปี  และจำนวนบทความใน high impact journal ปีล่าสุด  ในที่นี้บทความที่ถูกอ้างอิงสูง คือ บทความที่ถูกอ้างอิงอยู่ใน top 1%  ขณะที่ high impact journal คือ journal ที่มีค่า impact factor อยู่ใน top 5% ของวารสารในสาขาเดียวกัน

 
              ตัวชี้วัดของ HEEACT  มีจุดแข็งตรงที่วัดผลงานวิจัยเป็นหลัก  และข้อมูลตรวจสอบได้จริง ไม่เหมือนการประเมินของบางสถาบันที่มีตัวชี้วัดที่ใช้ความคิดเห็นของ peer (peer review)  หรือดูจากชื่อเสียง  
ของสถาบัน หรือมีตัวชี้วัดที่สูงจนส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลในส่วนนี้  เช่น ดูจากการได้รับรางวัลโนเบลของคณาจารย์  หรือศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

 

                HEEACT  ได้ทำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 500 แห่ง โดยแสดงผลแยกเป็นทวีปด้วย  และยังมีการประเมินตามกลุ่มสาขาวิชา โดยแยกเป็น 6 กลุ่มสาขา ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ แพทยศาสตร์  เกษตรศาสตร์ และสังคมศาสตร์  ผลการประเมินพบว่ามหาวิทยาลัยในลำดับต้นๆ เช่น ใน 10 อันดับแรกเป็นมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาเกือบหมด   เช่นเดียวกับการจัดอันดับของมหาวิทยาลัย Shanghai Jiao Tong    แต่ถ้าดูจากตัวชี้วัดของ HEEACT  น่าจะเป็นธรรม และแม่นยำกว่า  แต่ขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าของสถาบันใดน่าเชื่อถือกว่า   คงต้องรอดูสักระยะหนึ่ง  อย่างไรก็ตามทั้งสองสถาบันไม่ได้นำจำนวน author ของบทความมาคิด  ถ้านำมาใช้ด้วยจะทำให้ผลการประเมินแม่นยำยิ่งขึ้น
 
                ดังที่ได้กล่าวถึงตอนต้นว่า H-index  มีจุดอ่อนอยู่หลายข้อ  และมีความพยายามที่จะแก้จุดอ่อนดังกล่าว  โดยหนึ่งในหลายวิธีคือ การนำค่า G-index มาใช้

 

           G-index  เป็นตัวชี้วัดที่คิดขึ้นโดย Leo Egghe ในปี ค.ศ. 2006  เพื่อให้น้ำหนักแก่บทความที่มีการอ้างอิงสูงๆ   วิธีคิดค่า G-index  ทำโดยเรียงลำดับบทความตามจำนวนการอ้างอิง จากสูงสุดลงมาต่ำสุด  ค่า G-index คือ เลขจำนวนเต็มที่ใหญ่สุด  ซึ่ง g บทความแรกได้รับการอ้างอิงรวมกันอย่างน้อย  g2  ครั้ง

 

            การคำนวณค่า g และการเข้าใจค่า g  เป็นเรื่องยาก  ต้องอธิบายโดยการยกตัวอย่าง เช่น นักวิจัยคนหนึ่งมีบทความเพียง 12 บทความ  ที่มีค่าการอ้างอิงเป็น 30, 25, 21, 18, 12, 6, 5, 4, 3, 3, 2, 1  ตามลำดับ  ถ้าคำนวณค่า H-index จะได้เพียง 6   เนื่องจากนักวิจัยผู้นี้มีเพียง 6  บทความที่แต่ละบทความมีการอ้างอิงเกิน 6  ครั้งขึ้นไป  แต่ถ้าคำนวณค่า G-index จะได้ค่าถึง 11    เนื่องจากนักวิจัยผู้นี้มีบทความที่ได้รับการอ้างอิงสูงมากอยู่จำนวนหนึ่ง  ซึ่งทำให้ค่า g สูงกว่า h   ดังตารางต่อไปนี้  (c คือ จำนวนการอ้างอิง n  คือ ลำดับที่ของบทความ)
 
 



จากตารางพบว่า ค่า G-index เป็น 11  เนื่องจากผลรวมของการอ้างอิง 11 บทความแรกรวมกันเป็น 129  ซึ่งมีค่ามากกว่า 112  หรือ 121


 
* ข้อมูลจาก : เวบไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) - ประชาคมวิจัย การประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย (10) โดย ผศ. วุฒิพงศ์  เตชะดำรงสิน

สื่อสารภายใน