ศ.นพ.พิบูลย์ อิทธิระวิวงศ์

 

พบ. : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2512
อื่นๆ : วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ (แพทยสภา) พ.ศ. 2516
: Diploma British Orthopaedics (Univ. Birmingham) พ.ศ. 2519
: Certified Spinal Surgery (Oswestry, U.K.) พ.ศ. 2520
: Certified Paediatric Orthopaedics (Oswestry, U.K.) พ.ศ. 2521

ศ.นพ.เล็ก ณ นคร

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์เล็ก ณ นคร

 

   

              อาจารย์เล็กเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตรุ่นที่ ๓๘ พ.ศ.๒๔๗๕ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์เล็กเป็นผู้ที่ร่างกายสูงใหญ่และเล่นกีฬาเกือบทุกประเภท เมื่อจบจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นแพทย์ประจำบ้านแผนกศัลยศาสตร์ ทำงานใกล้ชิดกับกับ Professor TP Noble ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๕ อาจารย์สมัค พุกกะณะเสน อาจารย์อาวุโสของวงการออร์โธปิดิคส์ไทยท่านหนึ่งเล่าว่า อาจารย์เล็ก เป็นศิษย์ที่อาจารย์โนเบิลรักมาก อาจารย์เล็กสนใจงานทางด้านออร์โธปิดิกส์ และเป็นผู้รับหน้าที่สอนนักศึกษาแพทย์ศิริราชและดูแลผู้ป่วยด้านออร์โธปิดิกส์ ตั้งแต่ปี  พ.ศ.๒๔๗๕ ต่อมาอาจารย์โนเบิลขอทุนร็อกกีเฟลเลอร์ ให้อาจารย์เล็กเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านออร์โธปิดิกส์ที่สหรัฐอเมริกา  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ นัยว่าขณะเดินทางไปถึงสิงคโปร์ท่านมีปัญหาด้านสุขภาพและล้มป่วย อาจารย์เฟื่องซึ่งทำงานด้านช่องท้องขณะนั้นจึงเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุด และรับทุนแทนเดินทางไปเป็นท่านแรก เมื่ออยู่ที่ศิริราชการผ่าตัดใหญ่ทางออร์โธปิดิกส์ยังไม่แพร่หลาย อาจารย์เล็กจึงทำงานที่ โอ.พี.ดี. และสอนที่นั่น ทำศัลยกรรมทางมือด้วย มีการสอนเข้าเฝือก และ minor surgery ต่อมาเมื่อคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์เริ่มกิจการ พ.ศ.๒๔๙๐ หลวงเฉลิมพรหมมาส อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้ขอให้อาจารย์เล็กไปช่วยงานที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ โดยให้ไปช่วยสอนที่คณะทันตแพทย์เป็นหัวหน้าด้านศัลยกรรมไปก่อน จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๒ เมื่อเริ่มมีการสอนทางคลินิก จึงย้ายกลับมาสอนโรคทางออร์โธปิดิคส์ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อย่างไรก็ตามในช่วงแรกนี้ งานออร์โธปิดิคส์ยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนกศัลยศาสตร์ ท่านได้ทำงานร่วมกับอาจารย์สมาน มันตราภรณ์ ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษ ซึ่งท่านคณบดีพลตรีพระยาดำรงแพทยาคมได้ขอยืมตัวท่านจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชมาช่วยสอน อาจารย์เล็กได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทุนของรัฐบาลสหรัฐ ที่ St.Louis และโรงพยาบาลทหารที่ San Antonio เมื่อกลับมาก็ได้นำวิชาการแผนใหม่เริ่มปรับปรุงระบบงานและการศึกษาให้เจริญรุดหน้ายิ่งขึ้น  ท่านยังได้รับทุน China Medical Board ไปศึกษาและดูงานที่ฮ่องกงกับศาสตราจารย์นายแพทย์ฮอดชั่น ซึ่งมีชื่อเสียงในการผ่าตัดวัณโรคกระดูกสันหลังในยุคนั้น อาจารย์เล็กได้พัฒนาและเขียนหลักสูตรออร์โธปิดิกส์ไว้อย่างเป็นระบบหลังการตั้งภาควิชาในปี พ.ศ.๒๕๐๗ อาจารย์เล็กได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์และกายภาพำบัด ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เป็นท่านแรก และดำรงตำแหน่งจนเกษียณอายุ ราชการเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์เล็กคือ ศาสตราจารย์ และ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ผลงานที่สำคัญของอาจารย์เล็กในด้านการผ่าตัด ที่สำคัญ คือ ๑. นำเอา Lottes Intramedullary Nail มาใช้ทำการรักษากระดูกฟีเมอร์และกระดูกทิเบียหัก โดยใช้ดามในโพรงกระดูก ๒. การทำผ่าตัด Hibbs and Albee Spinal Fusion ในการรักษาวัณโรคกระดูกสันหลัง ๓. สอนและทำศัลยกรรมทางมือ (Hand Surgery) ๔.สอนวิธีดึงกระดูกข้อเคลื่อน กระดูกหักและเข้าเฝือก

            ลูกศิษย์รุ่นแรกๆของจุฬาเล่าให้ฟังว่า อาจารย์เล็กใจดีมาก มีความสามารถพิเศษในการสอน ใจเย็น พูดช้าเข้าใจง่าย ในยุคแรกๆของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์การสอบวิชาต่างๆเป็นการสอบร่วมกันของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์และคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ในวิชาออร์โธปิดิกส์อาจารย์เล็กจึงต้องทำการสอบร่วมกับอาจารย์เฟื่อง นักเรียนแพทย์ขณะนั้นจึงต้องเคร่งเครียดกับการสอบมากเป็นพิเศษ

ศ.นพ.สมัค พุกกะณะเสน

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสน

 

             อาจารย์สมัค พุกกะณะเสน ท่านเป็นอดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ถึง พ.ศ.๒๕๒๑ ท่านเป็นปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของวงการออร์โธปิดิกส์ไทย อาจารย์สมัคจบการศึกษาแพทย์จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ เป็นรุ่นก่อนอาจารย์นที รักษ์พลเมือง ๒ ปี เมื่อจบการศึกษาแพทย์แล้ว อาจารย์สมัค เข้ารับราชการทหารเรือ ต่อมาได้โอนย้ายมาเป็นอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ อาจารย์สมัคบรรจุครั้งแรกในแผนกวิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่ออาจารย์สมัคมาทำงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ระยะหนึ่งแล้ว อาจารย์ได้ทุนไปศึกษาดูงานวิชาออร์โธปิดิกส์ ที่มหาวิทยาลัย Pennsylvania มหาวิทยาลัย Harvard และ มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา  ๒ ปี

            ในระยะที่เริ่มก่อตั้งและบุกเบิกนี้ งานการรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และยังไม่มีสิ่งใดใหม่หรือเด่นชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุมีทรอม่า รักษาด้วยวิธี conservative เช่น traction และการพยุงดามด้วยเฝือกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีการผ่าตัดโดยใช้ plate, screw, K-wire, Rush pins และ Küntscher nails บ้าง นอกจากนั้นได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อ เช่น หนองโนโพรงกระดูก, วัณโรคข้อเข่าสะโพกและสันหลัง เป็นต้น การผ่าตัดสันหลังยังทำน้อย

            หลังการแยกภาควิชาออร์โธปิดิกส์ และกายภาพบำบัด ออกมาจากภาควิชาศัลยศาสตร์แล้วนั้น อาจารย์สมัคได้โอนย้ายมาอยู่ที่ภาควิชาออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด ร่วมกับอาจารย์เล็กและอาจารย์สมิธ หลังจากศาสตราจารย์นายแพทย์เล็ก ณ นคร เกษียณอายุราชการ อาจารย์สมัค จึงเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟูต่อเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ อาจารย์สมัคดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ ถึง พ.ศ.๒๕๒๓ อาจารย์สมัคได้ประสานงานให้ของบประมาณและเงินบริจาคจากท่านผู้หญิงสมศรี เจริญรัชตภาคย์และผู้มีจิตศรัทธา ในการก่อสร้างตึกเจริญ-สมศรีขึ้น ตึกเจริญ-สมศรี ได้รับการออกแบบโดยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในขณะนั้น โดยออกแบบให้มีความแข็งแรงพอที่จะขยายเป็น ๑๒ ชั้นได้ในอนาคต ตึกเจริญ-สมศรี แล้วเสร็จและเปิดทำการ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยเป็นตึก ๖ ชั้น  โดยมีหอผู้ป่วย ๓ ชั้น ชั้นห้องผ่าตัด ชั้นห้องพักอาจารย์และหน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัดอยู่ชั้นล่าง และด้วยความที่อาจารย์สมัคเป็นผู้ที่มีความเยือกเย็นสุขุมมาก อาจารย์จึงถูกขอให้ไปช่วยงานการบริหารคณะแพทยศาสตร์ โดยดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการ คณะแพทยศาสตร์ และต่อมาศาสตราจารย์นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสนได้เข้าดำรงตำแหน่งคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ถึง พ.ศ.๒๕๒๐ ศาสตราจารย์นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสนเกษียณเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗

           อาจารย์สมัคได้ให้ความร่วมมือในการก่อตั้งชมรมออร์โธปิดิกส์ โดยการเชิญของนายแพทย์ประเสริฐ นุตกุลและเป็นกรรมการชมรมฯ  ตั้งแต่ต้น ต่อมามีการก่อตั้งสมาคมออร์โธปิดิกส์ แห่งประทศไทย อาจารย์สมัค ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึง พ.ศ.๒๕๒๖ เมื่อพ้นวาระแล้ว อาจารย์สมัคได้ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของสมาคมตลอดมา หลังเกษียณอายุราชการ อาจารย์สมัคใช้ชีวิตอย่างสงบที่บ้านและใช้เวลาในการศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นส่วนใหญ่