ศ.นพ.สมัค พุกกะณะเสน

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสน

 

             อาจารย์สมัค พุกกะณะเสน ท่านเป็นอดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ถึง พ.ศ.๒๕๒๑ ท่านเป็นปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของวงการออร์โธปิดิกส์ไทย อาจารย์สมัคจบการศึกษาแพทย์จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ เป็นรุ่นก่อนอาจารย์นที รักษ์พลเมือง ๒ ปี เมื่อจบการศึกษาแพทย์แล้ว อาจารย์สมัค เข้ารับราชการทหารเรือ ต่อมาได้โอนย้ายมาเป็นอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ อาจารย์สมัคบรรจุครั้งแรกในแผนกวิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่ออาจารย์สมัคมาทำงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ระยะหนึ่งแล้ว อาจารย์ได้ทุนไปศึกษาดูงานวิชาออร์โธปิดิกส์ ที่มหาวิทยาลัย Pennsylvania มหาวิทยาลัย Harvard และ มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา  ๒ ปี

            ในระยะที่เริ่มก่อตั้งและบุกเบิกนี้ งานการรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และยังไม่มีสิ่งใดใหม่หรือเด่นชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุมีทรอม่า รักษาด้วยวิธี conservative เช่น traction และการพยุงดามด้วยเฝือกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีการผ่าตัดโดยใช้ plate, screw, K-wire, Rush pins และ Küntscher nails บ้าง นอกจากนั้นได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อ เช่น หนองโนโพรงกระดูก, วัณโรคข้อเข่าสะโพกและสันหลัง เป็นต้น การผ่าตัดสันหลังยังทำน้อย

            หลังการแยกภาควิชาออร์โธปิดิกส์ และกายภาพบำบัด ออกมาจากภาควิชาศัลยศาสตร์แล้วนั้น อาจารย์สมัคได้โอนย้ายมาอยู่ที่ภาควิชาออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด ร่วมกับอาจารย์เล็กและอาจารย์สมิธ หลังจากศาสตราจารย์นายแพทย์เล็ก ณ นคร เกษียณอายุราชการ อาจารย์สมัค จึงเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟูต่อเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ อาจารย์สมัคดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ ถึง พ.ศ.๒๕๒๓ อาจารย์สมัคได้ประสานงานให้ของบประมาณและเงินบริจาคจากท่านผู้หญิงสมศรี เจริญรัชตภาคย์และผู้มีจิตศรัทธา ในการก่อสร้างตึกเจริญ-สมศรีขึ้น ตึกเจริญ-สมศรี ได้รับการออกแบบโดยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในขณะนั้น โดยออกแบบให้มีความแข็งแรงพอที่จะขยายเป็น ๑๒ ชั้นได้ในอนาคต ตึกเจริญ-สมศรี แล้วเสร็จและเปิดทำการ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยเป็นตึก ๖ ชั้น  โดยมีหอผู้ป่วย ๓ ชั้น ชั้นห้องผ่าตัด ชั้นห้องพักอาจารย์และหน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัดอยู่ชั้นล่าง และด้วยความที่อาจารย์สมัคเป็นผู้ที่มีความเยือกเย็นสุขุมมาก อาจารย์จึงถูกขอให้ไปช่วยงานการบริหารคณะแพทยศาสตร์ โดยดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการ คณะแพทยศาสตร์ และต่อมาศาสตราจารย์นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสนได้เข้าดำรงตำแหน่งคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ถึง พ.ศ.๒๕๒๐ ศาสตราจารย์นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสนเกษียณเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗

           อาจารย์สมัคได้ให้ความร่วมมือในการก่อตั้งชมรมออร์โธปิดิกส์ โดยการเชิญของนายแพทย์ประเสริฐ นุตกุลและเป็นกรรมการชมรมฯ  ตั้งแต่ต้น ต่อมามีการก่อตั้งสมาคมออร์โธปิดิกส์ แห่งประทศไทย อาจารย์สมัค ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึง พ.ศ.๒๕๒๖ เมื่อพ้นวาระแล้ว อาจารย์สมัคได้ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของสมาคมตลอดมา หลังเกษียณอายุราชการ อาจารย์สมัคใช้ชีวิตอย่างสงบที่บ้านและใช้เวลาในการศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นส่วนใหญ่

สื่อสารภายใน