Blog

ศ.นพ.สมัค พุกกะณะเสน

ศาสตราจารย์นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสน

 

             อาจารย์สมัค พุกกะณะเสน ท่านเป็นอดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ถึง พ.ศ.๒๕๒๑ ท่านเป็นปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของวงการออร์โธปิดิกส์ไทย อาจารย์สมัคจบการศึกษาแพทย์จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ เป็นรุ่นก่อนอาจารย์นที รักษ์พลเมือง ๒ ปี เมื่อจบการศึกษาแพทย์แล้ว อาจารย์สมัค เข้ารับราชการทหารเรือ ต่อมาได้โอนย้ายมาเป็นอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ อาจารย์สมัคบรรจุครั้งแรกในแผนกวิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่ออาจารย์สมัคมาทำงานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ระยะหนึ่งแล้ว อาจารย์ได้ทุนไปศึกษาดูงานวิชาออร์โธปิดิกส์ ที่มหาวิทยาลัย Pennsylvania มหาวิทยาลัย Harvard และ มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา  ๒ ปี

            ในระยะที่เริ่มก่อตั้งและบุกเบิกนี้ งานการรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และยังไม่มีสิ่งใดใหม่หรือเด่นชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุมีทรอม่า รักษาด้วยวิธี conservative เช่น traction และการพยุงดามด้วยเฝือกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีการผ่าตัดโดยใช้ plate, screw, K-wire, Rush pins และ Küntscher nails บ้าง นอกจากนั้นได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อ เช่น หนองโนโพรงกระดูก, วัณโรคข้อเข่าสะโพกและสันหลัง เป็นต้น การผ่าตัดสันหลังยังทำน้อย

            หลังการแยกภาควิชาออร์โธปิดิกส์ และกายภาพบำบัด ออกมาจากภาควิชาศัลยศาสตร์แล้วนั้น อาจารย์สมัคได้โอนย้ายมาอยู่ที่ภาควิชาออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด ร่วมกับอาจารย์เล็กและอาจารย์สมิธ หลังจากศาสตราจารย์นายแพทย์เล็ก ณ นคร เกษียณอายุราชการ อาจารย์สมัค จึงเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟูต่อเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ อาจารย์สมัคดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ ถึง พ.ศ.๒๕๒๓ อาจารย์สมัคได้ประสานงานให้ของบประมาณและเงินบริจาคจากท่านผู้หญิงสมศรี เจริญรัชตภาคย์และผู้มีจิตศรัทธา ในการก่อสร้างตึกเจริญ-สมศรีขึ้น ตึกเจริญ-สมศรี ได้รับการออกแบบโดยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในขณะนั้น โดยออกแบบให้มีความแข็งแรงพอที่จะขยายเป็น ๑๒ ชั้นได้ในอนาคต ตึกเจริญ-สมศรี แล้วเสร็จและเปิดทำการ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยเป็นตึก ๖ ชั้น  โดยมีหอผู้ป่วย ๓ ชั้น ชั้นห้องผ่าตัด ชั้นห้องพักอาจารย์และหน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัดอยู่ชั้นล่าง และด้วยความที่อาจารย์สมัคเป็นผู้ที่มีความเยือกเย็นสุขุมมาก อาจารย์จึงถูกขอให้ไปช่วยงานการบริหารคณะแพทยศาสตร์ โดยดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการ คณะแพทยศาสตร์ และต่อมาศาสตราจารย์นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสนได้เข้าดำรงตำแหน่งคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ถึง พ.ศ.๒๕๒๐ ศาสตราจารย์นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสนเกษียณเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗

           อาจารย์สมัคได้ให้ความร่วมมือในการก่อตั้งชมรมออร์โธปิดิกส์ โดยการเชิญของนายแพทย์ประเสริฐ นุตกุลและเป็นกรรมการชมรมฯ  ตั้งแต่ต้น ต่อมามีการก่อตั้งสมาคมออร์โธปิดิกส์ แห่งประทศไทย อาจารย์สมัค ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึง พ.ศ.๒๕๒๖ เมื่อพ้นวาระแล้ว อาจารย์สมัคได้ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของสมาคมตลอดมา หลังเกษียณอายุราชการ อาจารย์สมัคใช้ชีวิตอย่างสงบที่บ้านและใช้เวลาในการศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นส่วนใหญ่

รศ.นพ.สมิทธ์ สิทธิพงศ์

 

รองศาสตราจารย์นายแพทย์สมิทธ์ สิทธิพงศ์

 

                อาจารย์สมิทธ์ สิทธิพงศ์ จบการศึกษาจากคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ โดยเป็นแพทย์จุฬารุ่นที่ ๔ อาจารย์สมิธได้รับเลือกให้เป็นแพทย์ประจำบ้านแผนกอายุรศาสตร์ สูติ-นรีเวชศาสตร์ และศัลยศาสตร์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นเวลา ๒ ปี จากนั้นได้มาปฏิบัติงานเป็นแพทย์ประจำบ้านอาวุโสแผนกศัลยศาสตร์อีก ๓ ปี โดยเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เล็กและอาจารย์สมาน อาจารย์สมิทธิ์ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์แผนกศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑  อาจารย์สมิทธิ์มีความสามารถเป็นอย่างยิ่ง ได้ช่วยอาจารย์สมานทำการผ่าตัดทรวงอก โดยการควบคุมเครื่องมือปอดหัวใจให้อาจารย์สมานในช่วงการทำงานช่วงแรกๆ ต่อมาอาจารย์สมิทธ์ได้หันมาทุ่มเทความสนใจในการผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์ และได้รับทุนโคลอมโบให้ไปศึกษาวิชา Orthopaedics and Accidental Surgery กับ  Prof.Trueta ที่มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๕๐๖-๒๕๐๗ เป็นเวลา ๒ ปี อาจารย์สมิทธ์กลับมาทำงาน่วมกับอาจารย์เล็ก ณ นครและอาจารย์สมัค พุกกะณะเสน เมื่อมีการแยกภาควิชาออร์โธปิดิกส์ ออกจากภาควิชาศัลยศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗

                งานทางด้านออร์โธปิดิกส์ได้เริ่มมาตั้งแต่ทานอาจารย์นายแพทย์เล็ก ณ นคร อาจารย์นายแพทย์สมาน มันตราภรณ์ และ อาจารย์นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสน เมื่ออาจารย์สมิทธ์กลับมาจากต่างประเทศได้เริ่มวิธีการผ่าตัดใหม่ๆทางออร์โธปิดิกส์ที่ทันสมัยหลายอย่างมาผ่าตัดกับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เช่น Leg Lengthening ในผู้ป่วยขาสั้นยาวไม่เท่ากัน การผ่าตัดกระดูกสันหลังใส่ William Plate ที่กระดูกสันหลัง ซึ่งนับว่าเป็นการทำ Spinal Instrumentation เป็นครั้งแรกในประทศไทย  การผ่าตัดแก้ไขหลังคดได้ทำการผ่าตัดโดยใช้ Harrington Instrumentation ดัดหลังให้ตรงพร้อมทั้งเชื่อมกระดูกสันหลัง การเชื่อมกระดูกสันหลังโดยใช้สกรูยึดที่ข้อฟาเซ็ท (King Fusion) การทำ Vertebral Osteotomy เพื่อแก้ไขภาวะหลังโกง(Kyphosis) ในคนไข้ Ankylosing Spondylitis การผ่าตัดข้อสะโพก

                อาจารย์สมิทธ์เป็นนักประดิษฐ์โดยได้ประดิษฐ์Turn Buckle สำหรับนำมาใช้แก้ไขข้อเข่าที่ติดในท่าเข่างอ (flexion deformity) ประดิษฐ์ Anti-rotation splintซึ่งถ้าซื้อจากต่างประเทศจะมีราคาแพง อาจารย์สมิทธ์ยึดมั่นในเทคนิคการผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์ ตั้งแต่ขั้นตอนการล้างมือเข้าผ่าตัด ถ้าแพทย์ประจำบ้านล้างมือเสียงดังเลอะเทอะจะถูกตำหนิอย่างแรง เมื่อช่วยอาจารย์สมิทธ์ผ่าตัดต้องไม่แตะต้องกระดูกหรือเนื้อเยื่ออื่นด้วยถุงมือโดยเด็ดขาด อาจารย์สมิทธิ์เป็นกรรมการคนสำคัญในการออกแบบสร้างตึกเจริญ- สมศรี เจริญรัชตภาคย์ ทำให้ภาควิชาได้มีตึกรักษาผู้ป่วยทางออร์โธปิดิกส์และห้องผ่าตัดพร้อมอุปกรณ์ผ่าตัดที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยดีขึ้นมาก   

                อาจารย์สมิทธ์ สิทธิพงศ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟู ต่อจากท่านอาจารย์สมัค พุกกะณะเสน ในปี พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๒๗ ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการปรับปรุงภาควิชาฯ ให้เจริญก้าวหน้าไปมาก เช่น ได้มีการใช้ Image Intensifier เข้ามาช่วยในการผ่าตัดข้อสะโพก การทำ Close Intra-medullary Nailing การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ทำให้ช่อเสียงของภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศษสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโด่งดังและรู้จักกันแพร่หลาย

รศ.นพ.ไพรัช ประสงค์จีน

 

วทบ. : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2516
พบ. : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2518
อื่นๆ : วุฒิบัตรศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ พ.ศ. 2524

สื่อสารภายใน