Part E: หัตถการทางออร์โธปิดิกส์ที่ต้องรู้

Part E: หัตถการทางออร์โธปิดิกส์ที่ต้องรู้  

วัชระ วิไลรัตน์

43.    External splinting โดยการใช้ผ้ายืด (elastic bandage)           

43.1.    ความหมายของหัตถการ

43.1.1. คือ การทำ external splinting โดยการใช้ผ้ายืด (elastic bandage, EB) พันรอบบริเวณข้อ

43.2.    ข้อบ่งชื้

43.2.1. การบาดเจ็บบริเวณข้อข้อที่ไม่รุนแรง

43.2.2. การบาดเจ็บของเอ็นรอบข้อชนิด first degree sprain เช่น ข้อเท้าพลิก

43.3.    การเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์

43.3.1. EB ขนาดที่พอดีกับบริเวณที่จะพัน

• การพันข้อมือ ควรใช้ขนาด 3 นิ้ว
• การพันข้อเท้า ควรใช้ขนาด 4 นิ้ว   
• การพันข้อเข่า ควรใช้ขนาด 6 นิ้ว

43.4.    การเตรียมหัตถการและเตรียมผู้ป่วย

43.4.1. ผู้ทำการรักษาแนะนำตัว

43.4.2. อธิบายหัตถการที่จะทำกับผู้ป่วย รวมถึงจุดประสงค์ และประโยชน์ที่ได้ และผู้ป่วยยินยอม

43.4.3. จัดท่าผู้ป่วย

• การพันข้อมือ ให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนหงายและตั้งข้อศอกขึ้นในท่าที่สบาย
• การพันข้อเท้า ให้ผู้ป่วยนั่งห้อยขาทั้ง 2 ข้างในท่าที่สบาย
• การพันข้อเข่า ให้ผู้ป่วยนอนหงาย และใช้หมอนหนุนปลายเท้าสูงขึ้น ประมาณ 20 ซม. เพื่อให้ด้านหลังของเข่าลอยออกจากเตียงตรวจ

43.5.    วิธีการ

43.5.1. การพัน EB ให้เริ่มจากด้าน distal ไปยังด้าน proximal  แรงดึงที่ใช้ประมาณจากการดึง EB จนรู้สึกพอตึงมือ ควรพันคลุมผิวหนังบริเวณนั้นให้ทั่ว และพันให้มีการทบซ้อนกันประมาณครึ่งหนึ่งของขนาด EB เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง (herniation) ของเนื้อเยื่อ

• การพันข้อมือ

-    เนื่องจากการพันจาก distal ไป proximal ของบริเวณนี้อาจทำให้ EB หลุดลุ่ยได้ง่าย จึงจำเป็นต้องเริ่มพันแบบไม่รัดแน่นจากบริเวณข้อมือก่อน แล้วพันลงไปยังฝ่ามือ จากนั้น จึงพันย้อนกลับเขึ้นไปด้านบนเหนือข้อมือประมาณ 5-7 ซม.

• การพันข้อเท้า

-    เริ่มจากโคนนิ้วเท้าขึ้นไปด้านบนเหนือข้อเท้าประมาณ 10 ซม. เมื่อผ่านข้อเท้า ให้พันวนรอบส้นเท้าเป็น figure of eight เพื่อให้ EB กระชับผิวหนัง และไม่หลุดลุ่ยขณะขยับข้อเท้า แต่ต้องสลับการพันจน EB คลุมทั่วส้นเท้า  

• การพันข้อเข่า

-    เริ่มจากด้านล่างต่อข้อเข่าประมาณ 10 ซม.ไปด้านบนเหนือข้อเข่าประมาณ 10 ซม. และต้องให้ EB ปิดคลุมบริเวณสะบ้าให้หมด 

สื่อสารภายใน